อิทธิพลของขนาดพื้นที่สัมผัสขอบคมตัดเม็ดมีด CBN ที่มีผลต่อความหยาบผิว ในการกลึงเหล็ก AISI 1050
Main Article Content
บทคัดย่อ
กระบวนการกลึงงานทรงกระบอกโดยทั่วไปสามารถควบคุมคุณภาพผิวที่ค่าความหยาบผิวระหว่าง 3.2 – 0.4 ไมโครเมตร แต่ถ้าต้องการควบคุมคุณภาพผิวงานกลึงให้ค่าความหยาบผิวต่ำกว่า 0.4 ไมโครเมตร จำเป็นต้องใช้กระบวนการกลึงแบบพิเศษด้วยวัสดุคมตัดพิเศษ และเพิ่มขั้นตอนการเจียรนัย โดยเฉพาะการกลึงวัสดุเหล็กกล้าที่มีความแข็งไม่มาก เช่น เหล็กกล้าคาร์บอนต่ำถึงคาร์บอนปานกลาง งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดขั้นตอนและลดเวลาในการผลิตชิ้นงานกลึงที่ต้องการคุณภาพผิวสูง งานวิจัยนี้ได้คิดค้นกรรมวิธีในการกลึงเหล็กกล้าคาร์บอนต่ำถึงปานกลางให้มีความหยาบผิวต่ำกว่า 0.4 ไมโครเมตร ด้วยกระบวนการกลึงเพียงกระบวนการเดียว โดยศึกษาขนาดพื้นที่สัมผัสขอบคมตัดของเม็ดมีด CBN ที่ส่งผลต่อคุณภาพผิวงานกลึงเหล็กกล้า AISI 1050 การทดลองนี้ได้ทำการเพิ่มขนาดพื้นที่สัมผัสขอบคมตัดจากเม็ดมีด CBN มาตรฐานที่มีขนาด 0 ไมโครเมตร ให้มีขนาดเท่ากับ 5, 10, 15, 20 และ 25 ไมโครเมตร กำหนดเงื่อนไขการกลึงทดลองคือ ความเร็วตัด 280 เมตรต่อนาที อัตราการป้อน 0.05 มิลลิเมตรต่อรอบ ระยะป้อนลึก 0.1 มิลลิเมตร และไม่ใช้สารหล่อเย็น นำเทคนิคการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวมาทำการทดสอบสมมติฐานทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการทดลองพบว่าเม็ดมีด CBN ที่มีพื้นที่สัมผัสขอบคมตัดเท่ากับ 0 – 20ไมโครเมตร สามารถควบคุมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่พิกัดความเผื่อ ± 0.005 มิลลิเมตรได้ และเม็ดมีด CBN ที่ถูกปรับแต่งขอบคมตัดให้มีพื้นที่สัมผัสขอบคมตัดเท่ากับ 15 ไมโครเมตร สามารถกลึงเหล็กกล้า AISI 1050 ที่ค่าความหยาบผิว 0.286 ไมโครเมตร ซึ่งมีคุณภาพผิวอยู่ในระดับเดียวกับผิวงานที่ผ่านกระบวนการเจียรนัย
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ใน Journal of Advanced Development in Engineering and Science ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรง ซึ่งกองบรรณาธิการวารสารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยหรือร่วมรับผิดชอบใดๆ
บทความ ข้อมูล เนื้อหา ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในJournal of Advanced Development in Engineering and Science ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ Journal of Advanced Development in Engineering and Science หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใดๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Journal of Advanced Development in Engineering and Scienceก่อนเท่านั้น