การพัฒนาเครื่องวัดสภาพอากาศพื้นฐานอัตโนมัติ เพื่อรองรับการตัดสินใจเชิงพื้นที่จากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ

Main Article Content

อมรชัย ประกอบยา
สิงหา มีหัวโทน
ธนพงษ์ สมควร
ณัฐนจี ศรีสมัย
วราภรณ์ แสวงหา
วราเมธ ป้องทอง

บทคัดย่อ

การติดตามสภาพภูมิอากาศเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สภาพภูมิอากาศเป็นตัวแปรหนึ่งที่สำคัญต่อการจัดการพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงการคาดการณ์ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ ข้อมูลลักษณะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงมีประโยชน์มากสำหรับการเตรียมรับมือผลกระทบของความแห้งแล้ง ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะส่งผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนโดยรวม การศึกษาพัฒนาเครื่องวัดสภาพอากาศพื้นฐานอัตโนมัติเพื่อรองรับการตัดสินใจเชิงพื้นที่จากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศนี้ มุ่งเน้นเพื่อสร้างต้นแบบอุปกรณ์เครื่องวัดสภาพอากาศอย่างง่ายต้นทุนต่ำแบบอัตโนมัติ และพัฒนาเชื่อมต่อร่วมกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มือถือ และสมาร์ทโฟน (Internet of Thing) ข้อมูลภูมิอากาศ ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลม ทิศทางลม และปริมาณน้ำฝน ถือเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะนําไปใช้ประโยชน์สําหรับวิเคราะห์ความเสี่ยงภัย และคาดการณ์ของปัญหาเชิงสิ่งแวดล้อมต่างๆ ปัจจุบันมีการพัฒนาเครื่องมือระบบเฝ้าระวังสภาพอากาศ และออกแบบสถานีตรวจวัดอากาศแบบอัตโนมัติที่อาศัยโมดูลสัญญาณมือถือ ซึ่งมีจำหน่ายทั่วไปหลากหลายชนิด ทั้งนี้บางชิ้นส่วนมีราคาสูง และนำเข้าจากต่างประเทศ การพัฒนาเครื่องวัดสภาพอากาศพื้นฐานอัตโนมัตินี้สามารถส่งสัญญาณไปเป็นข้อมูลตัวเลข ใช้แหล่งพลังงานจากไฟฟ้าหรือเซลล์แสงอาทิตย์ ประกอบด้วยเซนเซอร์วัดอุณหภูมิ ความชื้นสัมพันธ์ ความเร็วลม ทิศทางลมและปริมาณน้ำฝน โดยส่งข้อมูลผ่านระบบประมวลผลและควบคุมด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ แล้วบันทึกและจัดเก็บให้อยู่ในรูปฐานข้อมูล เชื่อมโยงอุปกรณ์ และออกแบบหน้าจอแสดงผลผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน ได้แก่ การออกแบบหน้าจอสรุปผลข้อมูลรวม (Dashboard)  การประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลสภาพอากาศเบื้องต้น และสามารถจัดเก็บ ข้อมูลย้อนหลัง เพื่อนำไปวิเคราะห์ร่วมกับแบบจำลองสภาพภูมิอากาศแบบอื่น เพื่อใช้เป็นระบบสนับสนุนการตัดสินใจให้ดีขึ้น

Article Details

บท
บทความวิจัย