จริยธรรมการตีพิมพ์ (Publication Ethics)

        วารสารเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์  ได้ตระหนักเห็นความสำคัญในการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพวารสารให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และถูกต้องตามหลักจริยธรรม จรรยาบรรณ เป็นไปตามประกาศศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) เรื่อง การประเมินด้านจริยธรรม จรรยาบรรณวารสารวิชาการไทยในฐานข้อมูล TCI  ดังนั้น วารสารจึงได้กำหนดบทบาทหน้าที่และแนวปฏิบัติตามหลักจริยธรรม จรรยาบรรณในการตีพิมพ์สำหรับบุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้เขียน 2. ผู้ประเมิน และ 3. บรรณาธิการวารสาร ไว้ดังนี้

บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียน

     1. ผู้เขียนต้องไม่ตีพิมพ์บทความซ้ำซ้อน รวมถึงไม่นำต้นฉบับที่ยังอยู่ในกระบวนการประเมินของวารสารไปส่งวารสารอื่น
     2. ผู้เขียนต้องไม่คัดลอกผลงานและข้อความของผู้อื่นมาทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เป็นผลงานหรืองานเขียนของตนเอง โดยต้องมีการอ้างอิงผลงานของผู้อื่น หากมีการนำผลงานนั้นมาใช้ในบทความของตนเอง
     3. ผู้เขียนต้องให้ความสำคัญกับรูปแบบการเขียนบทความตามที่วารสารกำหนดไว้ โดยเฉพาะรูปแบบการเขียนเอกสารอ้างอิง
     4. ผู้เขียนต้องไม่สร้างข้อมูลเท็จ หรือปลอมแปลง ตกแต่งข้อมูลและนำมาเขียนในบทความ
     5. ผู้เขียนต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนการทำวิจัยในต้นฉบับ และระบุเฉพาะชื่อผู้จัดทำหรือผู้เกี่ยวข้องกับบทความวิจัยนั้นเท่านั้น
     6. ผู้เขียนต้องแจ้งบรรณาธิการทันทีหากพบความผิดพลาดในงานวิจัย ที่ส่งผลต่อบทสรุปงานวิจัยของต้นฉบับที่อยู่ในกระบวนการประเมิน หรือบทความที่ตีพิมพ์ไปแล้ว
     7. หากบทความวิจัยนั้น เป็นการวิจัยในคนหรือสัตว์ทดลอง ผู้เขียนต้องแนบหนังสือรับรองจริยธรรมจากคณะกรรมการวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ทดลองมาพร้อมต้นฉบับ

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมิน
     1. ผู้ประเมินบทความต้องไม่เปิดเผยข้อมูลในบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
     2. ผู้ประเมินต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความที่กำลังพิจารณา
     3. ผู้ประเมินควรรับพิจารณาเฉพาะบทความที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญเท่านั้น และต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนต่อบทความที่กำลังพิจารณา

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร
     1. บรรณาธิการยึดมั่นหลักจริยธรรมสากลในการตีพิมพ์บทความในวารสาร และให้ความสำคัญกับการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างบรรณาธิการ เจ้าหน้าที่วารสาร ผู้เขียน ผู้ประเมินบทความ และสมาชิกกองบรรณาธิการ
     2. บรรณาธิการมีหน้าที่จัดพิมพ์คำแนะนำที่ทันสมัยสำหรับการเตรียมบทความให้แก่ผู้เขียนตามที่บรรณาธิการคาดหวัง
     3. บรรณาธิการสนับสนุนความถูกต้องทางวิชาการของบทความตีพิมพ์ในวารสารโดย
         3.1 มีการดำเนินการเพื่อรับรองคุณภาพของงานวิจัยที่ตีพิมพ์ โดยให้ความสำคัญต่อความใหม่ และความชัดเจนของบทความวิจัย ตลอดจนความเกี่ยวข้องกับขอบเขตของวารสาร
         3.2 จัดให้มีกระบวนการพิจารณาประเมินบทความจากผู้ประเมินบทความที่มีความชำนาญต่อเนื้อหาของบทความ รวมถึงมีระบบการปกปิดเป็นความลับในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาประเมิน และมีระบบปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ประเมินบทความ
         3.3 หากพบความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นกับบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ไปแล้ว รวมถึงมีประโยคที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด หรือเป็นรายงานที่บิดเบือนข้อเท็จจริง บรรณาธิการต้องแก้ไขทันทีและด้วยความชัดเจน
         3.4 หากพบการประพฤติทุจริตภายหลังการดำเนินการตรวจสอบแล้ว บรรณาธิการต้องดำเนินการเพิกถอนบทความนั้นด้วยความชัดเจนที่จะสามารถพิสูจน์ได้ รวมถึงจัดทำประกาศการเพิกถอนให้แก่ผู้อ่านและระบบฐานข้อมูลอื่นๆ ให้ทราบด้วย
     4. บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบบทความในด้านการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) อย่างจริงจัง
     5. บรรณาธิการต้องไม่เปลี่ยนแปลงการตัดสินใจในการตอบรับบทความที่ถูกปฏิเสธการติพิมพ์ไปแล้ว และไม่กลับคำตัดสินใจมาตีพิมพ์บทความที่บรรณาธิการคนก่อนตอบปฏิเสธไปแล้ว ยกเว้นมีการพิสูจน์ถึงปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้น
     6. บรรณาธิการจัดเตรียมช่องทางให้ผู้เขียนสามารถอุทธรณ์ได้ หากผู้เขียนมีความคิดเห็นแตกต่างจากการตัดสินใจของบรรณาธิการ รวมถึงให้ข้อชี้แจงหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบประเมินบทความ (peer review)
     7. บรรณาธิการจัดเตรียมช่องทางการร้องเรียน และมีการตอบกลับคำร้องเรียนอย่างเร็วที่สุด