ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับอาการระบบทางเดินหายใจของเกษตรกรชาวนา ในช่วงสถานการณ์หมอกควัน พื้นที่จังหวัดเชียงราย
คำสำคัญ:
อาการระบบทางเดินหายใจ; เกษตรกรชาวนา; สถานการณ์หมอกควันบทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับอาการระบบทางเดินหายใจของเกษตรกรชาวนา ในช่วงสถานการณ์หมอกควัน พื้นที่จังหวัดเชียงราย รวบรวมข้อมูลจากเกษตรกรชาวนาที่สุ่มจากทะเบียนเกษตรกรทั้งหมด 392 คน โดยใช้แบบสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลการทำนา และข้อมูลอาการระบบทางเดินหายใจ จากนั้นทำการวิเคราะห์หาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับอาการระบบทางเดินหายใจโดยใช้สถิติไคสแควร์ ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95
ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 51.8 อายุเฉลี่ยเท่ากับ 57.36 ปี สถานภาพสมรส ร้อยละ 80.9 มีรายได้เพียงพอ ร้อยละ 64 ไม่ดื่มสุรา ร้อยละ 44.9 ไม่สูบบุหรี่ ร้อยละ 82.7 ไม่มีโรคประจำตัว ร้อยละ 55.9 ส่วนในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 25.5 ทำเฉพาะนาปี มากที่สุด ร้อยละ 73.2 ด้วยวิธีการหว่าน ร้อยละ 92.3 และมีวิธีจัดการพื้นที่หลังการเก็บเกี่ยวด้วยวิธีการไถกลบ ร้อยละ 80.6 สำหรับอาการระบบทางเดินหายใจของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า อาการระบบทางเดินหายใจที่พบมากที่สุด คือ อาการจาม ร้อยละ 8.2 รองลงมา คือ อาการหวัด ไอ และคัดจมูก ร้อยละ 5.4 เมื่อมีอาการกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มักจะไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาล ร้อยละ 92.6 ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ พบว่า พฤติกรรมการดื่มสุรา พฤติกรรมการสูบบุหรี่ และโรคประจำตัวมีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการระบบทางเดินหายใจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้น สำหรับในช่วงสถานการณ์หมอกควัน ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรดูแลตนเองโดยการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลเมื่อออกนอกเคหะสถาน งดเว้นกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อลดการสัมผัสกับหมอกควัน และคอยสังเกตอาการระบบทางเดินหายใจที่เกิดขึ้น หากมีอาการรุนแรงควรพบแพทย์ทันที
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2023 วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.สุวรรณภูมิ
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.