การเปรียบเทียบสมรรถนะทางความร้อนของหม้อน้ำระดับอุตสาหกรรมระหว่างกรณีใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน บิทูมินัสกับเชื้อเพลิงผสมถ่านหินบิทูมินัสร่วมกับเชื้อเพลิงชีวมวลไม้ผง

ผู้แต่ง

  • อาวุธ ลภิรัตนากูล
  • อัครพล ปิมวงศ์
  • จารุวัตร เจริญสุข
  • ภรณ์เพ็ญ ลภิรัตนากูล

คำสำคัญ:

ประสิทธิภาพหม้อน้ำ, เชื้อเพลิงชีวมวลไม้ผง, หม้อน้ำอุตสาหกรรม

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการเปรียบเทียบสมรรถนะทางความร้อนของหม้อน้ำระดับอุตสาหกรรมระหว่างกรณีใช้เชื้อเพลิงถ่านหินบิทูมินัสอย่างเดียวกับเชื้อเพลิงผสมถ่านหินบิทูมินัสร่วมกับเชื้อเพลิงชีวมวลไม้ผงสัดส่วนผสมโดยมวล 93 : 7 % การป้อนเชื้อเพลิงชีวมวลไม้ผงถูกป้อนด้วยอากาศที่เพิ่มเติมจากระบบเดิม ทำการตรวจวัดประสิทธิภาพหม้อน้ำระดับอุตสาหกรรมด้วยวิธีทางตรงและทางอ้อมตามมาตรฐาน JIS :BS-8222  รวมถึงได้นำเสนอแนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพหม้อน้ำ งานวิจัยนี้ได้ทำการทดสอบกับหม้อน้ำชนิดท่อน้ำ ขนาด 15 ton/h ความดันไอน้ำใช้งานที่ 7 Barg ตะกรับเป็นแบบ Travelling grate ป้อนเชื้อเพลิงแบบสกรู มีการป้อนอากาศแบบใต้ตะกรับ ผลการตรวจวัดพบว่ากรณีเชื้อเพลิงถ่านหินอย่างเดียวมีค่าประสิทธิภาพหม้อน้ำทางอ้อมอ้างอิงค่าความร้อนด้านต่ำมีค่าเท่ากับ 67.37 % มีค่ามากกว่ากรณีเชื้อเพลิงผสมที่มีค่าเท่ากับ 44.02 % โดยทั้งสองกรณีมีความร้อนสูญเสียหลักเป็นการสูญเสียความร้อนจากก๊าซไอเสีย ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับประสิทธิภาพทางตรง ทั้งนี้ข้อดีของการเพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงชีวมวลผงมีส่วนช่วยเร่งปฎิกิริยาการเผาไหม้และเพิ่มความปั่นป่วน ทำให้หม้อน้ำสามารถผลิตไอน้ำได้ความดันไอน้ำคงที่ตามการใช้งานของกระบวนการผลิตของทางโรงงาน แต่ข้อเสียหลักของงานวิจัยนี้คือปริมาณอากาศส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการป้อนพาเชื้อเพลิงไม้ผงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ส่งผลให้เป็นภาระของการเผาไหม้ ทำให้อุณหภูมิภายในห้องเผาไหม้ลดลงและปริมาณ O2 ส่วนเกินมีค่าสูง เป็นสาเหตุให้ประสิทธิภาพหม้อน้ำมีค่าต่ำ ดังนั้นแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพหม้อน้ำคือการปรับแต่งการเผาไหม้ด้วยการลดปริมาณอากาศส่วนหลักที่ใช้ในการเผาไหม้ จะเป็นมาตรการที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องลงทุน ถ้าลดให้อากาศที่ใช้ในการเผาไหม้จนเหลือประมาณใกล้คียงกับกรณี เชื้อเพลิงถ่านหินอย่างเดียวคือ ปริมาณ O2 เท่ากับ 15% ประสิทธิภาพหม้อน้ำมีค่าเท่ากับ 69.69% และหากปรับแต่งการเผาไหม้ให้ปริมาณ O2 ลดลงตามเกณฑ์เท่ากับ 12% จะทำให้ประสิทธิภาพหม้อน้ำมีค่าเท่ากับ 78.78%

References

Jun L. Flame characteristics of pulverized torrefied-biomass combusted with high-temperature air. Combustion and Flame. 2013; 160:2585-2594.

Mando M. Pulverized straw combustion in a low-NOx multifuel burner: Modeling the transition from coal to straw. Fuel. 2010; 89:3051- 3062.

Kamal M. Parametric study of combined premixed and non-premixed flame coal burner. Fuel. 2008;87:1515-1528.

Akio N. Fuel and emissions properties of Stirling engine operated with wood powder. Fuel. 2007;86:2333-2342.

กิตติศักดิ์ บุญช่วย. การศึกษาประสิทธิภาพของหม้อน้ำแบบท่อน้ำ บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด มหาชน. วิทยานิพนธ์ วศ.บ. มหาวิทยาลัยนเรศวร. 2563.

ภัสสร เภาแก้ว และ โยษิตา สุขติเวชศ์. การประเมินสมรรถนะทางความร้อนของระบบไอน้ำของหม้อน้ำเชื้อเพลิงแข็ง. วิทยานิพนธ์ วศ.บ. มหาวิทยาลัยนเรศวร. 2562.

Nishant S. Bhanu P. and Sandeep K. Performance evaluation of Boiler In 46 MW bagasse-based cogeneration power plant. International Journal of Applied Engineering Research. 2018;13 :149-158.

Vikas K.P. Kumawat R. and Shuchi S. Energy Saving in a 10 TPH Boiler using Flash Steam. Journal of Basic and Applied Engineering Research. 2016;3(9):752-754.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

02-11-2024