Ethics
จริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ
วารสารสมาคมวิศวกรเครื่องกลไทย (Thai Journal of Mechanical Engineering; TJME) มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานสูงสุดของจริยธรรมการตีพิมพ์ โดยยึดแนวทางปฏิบัติของคณะกรรมการจริยธรรมการตีพิมพ์ (Committee on Publication Ethics, COPE) ควบคู่ไปกับแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานอื่นๆ เพื่อรับรองความถูกต้องและสมบูรณ์ของการตีพิมพ์งานวิจัย ซึ่งวารสาร TSMEJ มุ่งหวังให้บรรณาธิการ ผู้ประเมิน และผู้นิพนธ์ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมการตีพิมพ์ และหลีกเลี่ยงการคัดลอกผลงาน ผลประโยชน์ทับซ้อน และการประพฤติมิชอบในงานวิจัย ทั้งนี้คณะกรรมการจริยธรรมการตีพิมพ์ (COPE) เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนในด้านจริยธรรมและความโปร่งใสในการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ
แนวปฏิบัติที่สำคัญของคณะกรรมการจริยธรรมการตีพิมพ์ (COPE) สำหรับผู้นิพนธ์ ผู้ประเมิน และบรรณาธิการ มีดังนี้
1) การกล่าวหาเรื่องการประพฤติมิชอบ: วารสารควรมีแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการกับข้อสงสัยเรื่องการประพฤติมิชอบที่อาจเกิดกับวารสารหรือสำนักพิมพ์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง วารสารจะต้องให้ความสำคัญกับข้อกล่าวหาอย่างจริงจังทั้งก่อนและหลังการตีพิมพ์ ตลอดจนมีแนวทางปฏิบัติเพื่อจัดการกับข้อกล่าวหานั้นๆ
2) การประพันธ์และการมีส่วนร่วม: มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและโปร่งใสในการระบุชื่อผู้มีส่วนร่วมในงานวิจัย โดยทุกคนที่มีส่วนร่วมที่สำคัญในงานวิจัยควรมีชื่อปรากฏเป็นผู้นิพนธ์และผู้มีส่วนร่วมในผลงาน และควรมีแนวทางในการจัดการข้อพิพาทที่อาจจะเกิดขึ้น
3) การร้องเรียนและการอุทรณ์: วารสารควรมีขั้นตอนและแนวทางที่ชัดเจนในการจัดการกับข้อร้องเรียนที่มีต่องานวิจัย กองบรรณาธิการ และสำนักพิมพ์
4) ผลประโยชน์ทับซ้อน: ควรมีการนิยามความหมายของผลประโยชน์ทับซ้อนที่ชัดเจน ตลอดจนจัดทำแนวทางการจัดการกับผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผู้นิพนธ์ ผู้ประเมิน บรรณาธิการ วารสาร และสำนักพิมพ์ทั้งก่อนและหลังการตีพิมพ์บทความ
5) ข้อมูลและความสามารถในการทำซ้ำ: วารสารควรมีแนวทางปฏิบัติในการนำข้อมูลมาใช้ในงานวิจัย พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการใช้แนวทางการรายงานข้อมูล การลงทะเบียนงานวิจัยแบบทดลองทางคลีนิก และการออกแบบงานวิจัยในรูปแบบอื่นๆ ตามมาตรฐานของแต่ละสาขาวิชา
6) การกำกับดูแลด้านจริยธรรม: การกำกับดูแลด้านจริยธรรม รวมถึง (แต่ไม่จำกัดเพียง) การให้ความยินยอมในการตีพิมพ์ การเผยแพร่ข้อมูลของประชากรกลุ่มเปราะบาง จริยธรรมการวิจัยในสัตว์ จรรณยาบรรณการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ การจัดการกับข้อมูลที่เป็นความลับ และจริยธรรมทางธุรกิจ
7) ทรัพย์สินทางปัญญา: นโยบายทั้งหมดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงลิขสิทธิ์และใบอนุญาตเผยแพร่สิ่งพิมพ์ที่ควรมีการระบุไว้อย่างชัดเจน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการตีพิมพ์จะต้องเปิดเผยต่อผู้นิพนธ์และผู้อ่านอย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้ ควรมีการระบุให้ชัดเจนว่าสิ่งใดถือเป็นการเผยแพร่ก่อนพิจารณาและสิ่งใดที่ถือเป็นการคัดลอกหรือทำซ้ำ
8) การบริหารจัดการวารสาร: เครื่องมือสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการวารสาร ได้แก่ โมเดลธุรกิจ นโยบาย แนวทางปฏิบัติ และซอฟต์แวร์สำหรับการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของวารสารที่มีอิสระทางบรรณาธิการ รวมทั้งการบริหารจัดการและการฝึกอบรมที่ดีของกองบรรณาธิการและบุคลากรด้านการตีพิมพ์
9) กระบวนการประเมินบทความ (Peer Review): กระบวนการประเมินบทความจะต้องโปร่งใสและมีการจัดการที่ดี วารสารควรจัดอบรมเรื่องการประเมินบทความให้กับบรรณาธิการและผู้ประเมิน และต้องมีแนวทางการพิจารณาบทความที่เป็นไปได้ในหลากหลายแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำรูปแบบการประเมินและวิธีการที่เหมาะสมมาจัดการกับผลประโยชน์ทับซ้อน การอุธรณ์ และข้อพิพาทที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการประเมิน
10) การอภิปรายหลังการตีพิมพ์: วารสารต้องอนุญาตให้มีการแสดงความคิดเห็นต่องานวิจัยหลังการตีพิมพ์ ทั้งบนเว็บไซต์ ผ่านทางจดหมายถึงบรรณาธิการ หรือเว็บไซต์ตรวจสอบภายนอก เช่น Pubpeer ซึ่งการอภิปรายเหล่านี้จะต้องมีกลไกสำหรับการแก้ไข ปรับปรุง และถอดถอนบทความหลังจากที่ได้ตีพิมพ์แล้ว
ตามแนวการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการข้างต้น COPE ได้จัดทำหลักปฏิบัติที่ครอบคลุมจริยธรรมการตีพิมพ์ที่มีความโปร่งใส ยุติธรรม และมีความเข้มงวดในกระบวนการวิจัยซึ่งรวมถึงการประพฤติตนอย่างมืออาชีพและมีมาตรฐาน
จริยธรรมการตีพิมพ์
วารสาร TSMEJ ยึดมาตรฐานสูงสุดด้านจริยธรรมการตีพิมพ์และรักษาความสมบูรณ์และโปร่งใสในกระบวนการตีพิมพ์ ซึ่งมุ่งหวังให้ผู้นิพนธ์ ผู้ประเมิน ตลอดจนบรรณาธิการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมของวารสารและประพฤติตนอย่างมืออาชีพ หลักจริยธรรมการตีพิมพ์และการประพฤติมิชอบในการตีพิมพ์ มีดังนี้
1) หน้าที่ของผู้นิพนธ์
- ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าต้นฉบับงานวิจัยที่ส่งพิจารณาไม่เคยถูกตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน
- ผู้นิพนธ์ควรนำเสนอผลงานวิจัยอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา
- ผู้นิพนธ์ควรนำเสนอผลงานวิจัยที่ปราศจาคข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ถูกบิดเบือน หรือแก้ไขโดยไม่เหมาะสม
- ผู้นิพนธ์จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในการตีพิมพ์วารสารวิชาการ
- ผู้นิพนธ์จะต้องส่งต้นฉบับงานวิจัยที่ไม่ได้เป็นการคัดลอกผลงานของผู้อื่น และไม่คยถูกตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน
- ผู้นิพนธ์ควรระบุแหล่งทุนวิจัยและผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกี่ยวข้อง
- ต้นฉบับผลงานวิจัยที่ส่งเพื่อพิจารณาจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมการตีพิมพ์และความรับผิดชอบ
- ต้นฉบับผลงานวิจัยที่ส่งเพื่อพิจารณามีความถูกต้องตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
2) หน้าที่ของบรรณาธิการ
- บรรณาธิการควรชี้แจงแนวทางปฏิบัติในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการให้แก่ผู้นิพนธ์และผู้ประเมิน โดยแนวทางปฏิบัติดังกล่าวควรได้ปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ
- บรรณาธิการควรพิจารณาต้นฉบับผลงานวิจัยทั้งหมดเพื่อรับรองว่าบทความดังกล่าวมีคุณภาพสูงและมีความทันสมัย
- บรรณาธิการควรชี้แจงความคาดหวังของวารสาร TJME ทั้งหมด ต่อผู้ประเมินและผู้นิพนธ์
- บรรณาธิการต้องพิจารณาต้นฉบับผลงานวิจัยอย่างเป็นธรรม ปราศจาคอคติ และการแสวงหาผลประโยชน์จากงานวิจัย
- บรรณาธิการควรสังเกตติดตามและรับรองกระบวนการตรวจสอบประเมินผลที่มีความเหมาะสมและเป็นธรรม
- บรรณาธิการควรปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติด้านบรรณาธิกรรมเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสด้วยการรายงานที่ครบถ้วนและตรงไปตรงมา
- บรรณาธิการควรใช้วิธีการที่เหมาะสมในการจัดการกับผลประโยชน์ทับซ้อนทางบรรณาธิกรรม
- บรรณาธิการควรรักษาความน่าเชื่อถือของคำวิจารณ์บทความที่เผยแพร่โดยจัดทำบันทึกการตรวจแก้และการถอดถอนตามแนวทางของคณะกรรมการจริยธรรมการตีพิมพ์ (COPE)
- บรรณาธิการควรตรวจสอบติดตามดูพฤติกรรมการประพฤติมิชอบในกรณีที่ถูกสงสัย ทั้งในด้านการตรวจสอบและประเมิน บรรณาธิกรรม และการตีพิมพ์
3) บทบาทของผู้ประเมิน
- ผู้ประเมินควรส่งข้อเสนอแนะของต้นฉบับงานวิจัยให้กับบรรณาธิการของ TJME ตามกรอบเวลาที่กำหนด
- ผู้ประเมินต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของต้นฉบับบทความที่ประเมิน
- ผู้ประเมินควรตรวจสอบติดตามพฤติกรรมที่น่าสงสัยว่าเป็นการประพฤติมิชอบในการตีพิมพ์
- ผู้ประเมินควรรายงานเหตุผลและผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นกับการประเมินต้นฉบับและผู้นิพนธ์แก่กองบรรณาธิการ
- ผู้ประเมินควรระบุสิ่งที่อาจจะเป็นการคัดลอกผลงาน ในกรณีที่ผู้นิพนธ์ระบุผิดพลาด หรือไม่ได้อ้างอิงถึงบทความที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงบทความของผู้นิพนธ์เองด้วย
- ผู้ประเมินควรให้คำตัดสินผลการพิจารณาและข้อเสนอแนะที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์
- ผู้ประเมินจะต้องแจ้งบรรณาธิการของวารสารหากว่าผู้ประเมินไม่มีความเชี่ยวชาญในการประเมินผลงานวิชาการฉบับนั้นๆ
- ผู้ประเมินควรตระหนักว่าการแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นในระหว่างการตรวจสอบและประเมินถือเป็นการประพฤติผิดจริยธรรมการตีพิมพ์อย่างร้ายแรง
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------