การศึกษาคุณลักษณะการเผาไหม้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวบนหัวเผาช่องสี่เหลี่ยมแบบ Wolfhard Parker

ผู้แต่ง

  • อมรรัตน์ แก้วประดับ -
  • สำเริง จักรใจ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาคุณลักษณะการเผาไหม้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวบนหัวเผาช่องสี่เหลี่ยมแบบ Wolfhard Parker ซึ่งเป็นต้นแบบหัวเผาที่มีการใช้งานในอุตสาหกรรมหัวเผาแบบช่องสี่เหลี่ยมแบบ Wolfhard Parker มีการเผาไหม้แบบไม่ผสมมาก่อน สามารถให้ความร้อนสม่ำเสมอ มีความปลอดภัยต่อการใช้งานและลดการเกิดเปลวไฟย้อนกลับ (Flash back flame)ได้แต่การเผาไหม้แบบไม่ผสมมาก่อน ส่งผลต่อคุณลักษณะการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ องค์ประกอบที่แตกต่างกันของเชื้อเพลิงและอัตราส่วนสมมูล เป็นปัจจัยที่มีผลต่ออัตราส่วนอากาศที่ใช้และประสิทธิภาพการเผาไหม้  งานวิจัยนี้มุ่งเน้นศึกษาการเผาไหม้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวบนหัวเผาช่องสี่เหลี่ยมแบบWolfhard Parker จากอิทธิพลขององค์ประกอบก๊าซโพรเพนและก๊าซบิวเทนในการงานจริงตามมาตรฐานที่อัตราส่วน 70:30, 60:40 และ 40:60 อิทธิพลของอัตราความร้อนป้อน 2.0-4.0 kW และอัตราส่วนสมมูลที่ 1.00-2.00 ผลการศึกษาพบว่าที่อัตราส่วนสมมูล 1.00 หรืออัตราความร้อนป้อน 2.0 kW  ที่องค์ประกอบก๊าซปิโตรเลียมเหลว 70:30 มีอัตราส่วนเปลวไฟแบบผสมมาก่อน (Premixed flame ratio) สูงที่สุดและมีอุณหภูมิเปลวไฟสูงสุด (940°C) ผลการศึกษาที่องค์ประกอบ 60:40 พบว่ามีช่วงการติดไฟเพิ่มขึ้นที่อัตราส่วนสมมูล 0.90 นอกจากนี้ยังพบว่ามีปริมาณก๊าซคาร์บอนโมโนออกไซด์ต่ำสุดที่องค์ประกอบ 40:60 จากผลการศึกษาการเผาไหม้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวบนหัวเผาช่องสี่เหลี่ยมแบบ Wolfhard Parker  องค์ประกอบก๊าซปิโตรเลียมเหลว อัตราส่วนสมมูล และอัตราความร้อนป้อน มีอิทธิพลต่ออุณหภูมิเปลวไฟ อัตราส่วนความยาวเปลวไฟแบบผสมมาก่อน ช่วงการติดไฟ ปริมาณก๊าซคาร์บอนโมโนออกไซด์ แต่มีอิทธิพลน้อยต่อปริมาณออกไซต์ของไนโตรเจน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

02-11-2024